วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม

         มาลิณี  จุโฑประมา (2554: 69-80) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ดังนี้ กลุ่มทฤษฎีการเรียนรู้ที่ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมภายนอกหรือกลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) มีดังนี้
          1 . ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค (Classical Conditioning)
             ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค หรือการตอบสนองที่ถูกกระตุ้น โดยสิ่งเร้าที่ปรากฏชัดเจนในสถานการณ์การเรียนรู้ นักจิตวิทยาที่สำคัญในทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของพาฟลอฟ (Pavlov) เป็นผู้ริเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้
             หลักการเรียนรู้
             หลักการเรียนรู้ทฤษฎีของพาฟลอฟเชื่อว่าสิ่งเร้า (Stimulus) ที่เป็นกลางเกิดขึ้นพร้อมๆกับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดกริยาสะท้อนอย่างหนึ่งหลายๆครั้ง สิ่งเร้าที่เป็นกลางจะทำให้เกิดกริยาสะท้อนอย่างนั้นด้วย การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการวางเงื่อนไข (Conditioning) กล่าวคือ การตอบสนองหรือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นต่อสิ่งเร้านั้นๆต้องมีเงื่อนไขหรือมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นที่เป็นผลของการเรียนรู้
             สิ่งเร้าที่เป็นกลางจะทำให้เกิดกิริยาสะท้อนอย่างนั้นด้วยการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการวางเงื่อนไข หรือมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นซึ่งในธรรมชาติ หรือในชีวิตประจำวัน จะไม่ตอบสนองเช่นนั้นเลย เช่น เมื่อสุนัขได้ยินเสียงกระดิ่ง ตามปกติแล้วน้ำลายจะไม่ไหล แต่หลังจากวางเงื่อนไขแล้วน้ำลายจะไหล เสียงกระดิ่งจึงเป็นสิ่งที่เร้าที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้จากการวางเงื่อนไข
             การทดลองของพาฟลอฟ
             พาฟลอฟ ทดลองกับสุนัข โดยผูกสุนัขที่กำลังหิวไว้ในห้องทดลอง เขาผ่าตัดข้างแก้มสุนัขตรงต่อมน้ำลาย แล้วต่อสายยางเพื่อให้น้ำลายสายยางสู่เครื่องวัด เขาทำการทดลองโดยการสั่นกระดิ่งแล้วเอาผงเนื้อใส่ปากสุนัข ทำซ้ำๆกันหลายๆครั้ง ตามปกติสุนัขจะหลั่งน้ำลายเมื่อมีผงเนื้อในปาก แต่เมื่อนำผงเนื้อมาคู่กับกระดิ่งพียงไม่กี่ครั้ง เสียงกระดิ่งเพียงอย่างเดียวก็ทำให้สุนัขน้ำลายไหลได้แสดงว่าสุนัขเกิดการเรียนรู้แล้ว (ชัยพร วิชชาวุธ. 2545) เดิมทีสุนัขไม่ได้หลั่งน้ำลายเมื่อได้ยอนเสียงกระดิ่ง แต่เมื่อนำเสียงกระดิ่งไปคู่กับผงเนื้อ สุนัขก็หลั่งน้ำลายเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งโดยไม่มีผงเนื้อ
             สรุปผลการทดลองของพาฟลอฟ พบว่า การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ควรเริ่มจากการเสนอสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขก่อน แล้วจึงเสนอสิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไข ช่วงเวลาในการให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข และไม่วางเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการตอบสนองที่แตกต่างกัน ถ้ามีการวางเงื่อนไขซ้อนกันมากครั้งหมายถึงการให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขหลายๆสิ่ง การตอบสนองก็จะมีกำลังอ่อนลงมายิ่งขึ้น
             กระบวนการสำคัญอันเกิดจากการเรียนรู้ของพาฟลอฟ
             กระบวนการที่สำคัญ 3 ประการ อันเป็นผลจากการเรียนรู้แบบวางเงื่อนไข คือ
             1. การแผ่ขยาย คือ ความสามารถของอินทรีย์ที่จะตอบสนองในลักษณะเดิมต่อสิ่งเร้าที่มีความคล้ายคลึงกันได้
             2. การจำแนก คือ ความสามารถของอินทรีย์ในการที่จะจำแนกความแตกต่างของสิ่งเร้าได้
             3. การลบพฤติกรรม (Extinction) เป็นการงดสิ่งเสริมแรงจนในที่สุดพฤติกรรมที่เคยปรากฏจะไม่ปรากฏอีก กล่าวคือ ถ้าผู้ทดลองดำเนินการไปเรื่อยๆในขั้นสุดท้าย ถ้าผู้ทดลองให้เสียงกระดิ่ง (CS) โดยไม่ให้ผงเนื้อ (UCS) ตามมา จะทำให้ปฏิกิริยาน้ำลายไหล (CR) ลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดจะไม่เกิดการตอบสนองเลย
             สรุปหลักการวางเงื่อนไขของพาฟลอฟได้ดังนี้
             1. การลบพฤติกรรมชั่วคราว คือ การที่พฤติกรรมการตอบสนองลดน้อยลงอันเป็นผลเนื่องจากการที่ไม่ได้รัยสิ่งเร้าที่ไม่ได้ถูกวางเงื่อนไข ความเข้มข้นของการตอบสนองจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าให้ร่างกายได้รับสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขอย่างเดียวหรือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขกับสิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไขห่างกันออกไปมากขึ้น การลบพฤติกรรมมิใช่การลืม เป็นเพียงการลดลงเรื่อยๆซึ่งในที่นี้ก็คือรางวัลหรือสิ่งที่ต้องการ การฟื้นตัวของการตอบสนองที่วางเงื่อนไข หลังจากเกิดการลบพฤติกรรมชั่วคราวแล้ว สักระยะหนึ่งพฤติกรรมที่ถูกลบเงื่อนไขแล้วอาจฟื้นตัวเกิดขึ้นมาอีกได้รับการกระตุ้นโดยสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข
             2. การฟื้นคืนสภาพการตอบสนองจากการวางเงื่อนไข หมายถึง การตอบสนองที่เกิดจากการวางเงื่อนไข (CS) ที่ลดลง เพราะได้รับสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) เพียงอย่างเดียวจะกลับปรากฏขึ้นอีกและเพิ่มมากขึ้นๆ ถ้าผู้เรียนมีการเรียนรู้อย่างแท้จริง เช่น การที่สุนัขน้ำลายไหลอีกได้เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีผงเนื้อมาเข้าคู่กับเสียงกระดิ่ง
             3.  การสรุปความเหมือน ถ้าร่างกายมีการเรียนรู้โดยการแสดงอาการตอบสนองจากการวางเงื่อนไขต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขหนึ่งแล้ว ถ้ามีสิ่งเร้าอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันกับสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเดิม ร่างกายจะตอบสนองเหมือนกับสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขนั้น เป็นลักษณะที่ผู้เรียนไม่สามารถจะจำแนกสิ่งที่เรียนรู้ได้ เนื่องจากสิ่งที่เรียนรู้นั้นมีลักษณะคล้ายกับกับสิ่งเร้าที่เคยวางเงื่อนไขไว้ เช่น ถ้าสุนัขมีอาการน้ำลายไหลจากการสั่นกระดิ่งแล้ว เมื่อสุนัขนั้นได้ยินเสียงระฆัง หรือเสียงฉาบ จะมีอาการน้ำลายไหลทันที
             4. การจำแนกความแตกต่าง ถ้าร่างกายมีการเรียนรู้โดยแสดงอาการ ตอบสนองจากการวางเงื่อนไขต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเดิม ร่างกายจะตอบสนองแตกต่างไปจากสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขนั้นเป็นลักษณะที่ผู้เรียนสามารถจำแนกสิ่งที่แตกต่างกันได้ เช่น ถ้าสุนัขมีอาการน้ำลายไหลจากเสียงกระดิ่งแล้ว เมื่อได้ยินเสียงแตร หรือเสียงประทัด จะไม่มีอาการน้ำลายไหล
             จากการศึกษาทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของพาฟลอฟ อาจกล่าวสรุปได้ว่า การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตในมุมมองของพาฟลอฟ คือการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ซึ่งหมายถึง การใช้สิ่งเร้า 2 สิ่งคู่กัน คือสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขและสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไขเพื่อเกิดการเรียนรู้ คือ การตอบสนองที่เกิดจากการวางเงื่อนไข ซึ่งถ้าสิ่งมีชีวิตเกิดการเรียนรู้จริงแล้วจะมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า 2 สิ่งในลักษณะเดียวกันแล้วไม่ว่าจะตัดสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่งออกไป การตอบสนองก็ยังคงเป็นเช่นเดิมเพราะผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขกับสิ่งเร้าที่ไม่วางเงื่อนไขกับการตอบสนองได้
         2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของวัตสัน (Watson’s Classical Conditioning)
             ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของวัตสัน (Watson’s Classical Conditioning) ซึ่งวัตสัน (Watson) ได้นำเอาทฤษฎีของพาฟลอฟมาเป็นหลักสำคัญในการอิบายเรื่องการเรียนรู้ทำให้ทฤษฎีการเรียนรู้พาฟลอฟเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง วัตสันเป็นผู้ตั้งศัพท์คำว่า พฤติกรรมนิยม” (Behaviorism) เพราะเขาเห็นว่า จิตวิทยา ซึ่งจะถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริงนั้น จะต้องศึกษาพฤติกรรมเฉพาะในสิ่งที่สังเกตได้อย่างเด่นชัด เขามีความเห็นว่าการศึกษาทางจิตวิทยา ควรเป็นการศึกษาสิ่งที่เป็นปรนัย (Objective) ไม่ใช้เป็นอัตนัย (Subjective) ซึ่งเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของคน ผลงานของวัตสันรับความนิยมแพร่หลาย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำของกลุ่มจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม (อารี พันธ์มณี. 2544)
             การทดลองของวัตสัน วัตสันได้นำเรื่องการเรียนรู้ด้วยการวางเงื่อนไขของพาฟลอฟไปใช้กับคน โดยการทำการทดลองกับเด็กชายอายุ 11 เดือน ชื่อว่าอัลเบิร์ต โดยเขาให้ข้องสังเกตว่า โดยธรรมชาติแล้วเด็กๆจะกลัวเสียงที่ดังขึ้นมาอย่างกระทันหันและจะไม่กลัวสัตว์ประเภทหนู กระต่าย วัตสัน วัตสันดำเนินการทดลองโดยปล่อยเด็กอัลเบิร์ตเล่นกับหนูขาว พร้อมกับของเล่นต่างๆที่ทำด้วยขนปุกปุยคล้ายขนสัตว์ ต่อมาก็ได้นำหนูขาวกลับมาให้เล่นอีกขณะที่เด็กเอื้อมมือจะไปจับหนูดังที่เคยกระทำ วัตสันจะวางเงื่อนไขโดยการทำเสียงดังด้วยการตีแผ่นเหล็กอย่างแรง อัลเบิร์ตตกใจกลัวและร้องไห้ ผู้ทดลองทำเช่นนี้หลายๆครั้ง ในที่สุดเพียงแต่อัลเบิร์ตเห็นหนูขาวก็เกิดความกลัว และร้องไห้ถึงแม้ว่าจะไม่มีเสียงดังแล้วก็ตาม
             จากการทดลองดังกล่าวปรากฏว่า อัลเบิร์ตไม่กลัวแต่เพียงหนูเท่านั้น แต่จะกลัวสัตว์ที่มีขนทุกชนิด รวมทั้งของเล่น หรือเสื้อผ้าที่มีขนคล้ายสัตว์นั้นด้วย วัตสันยังทำการทดลองต่อมาอีก เพื่อพยายามลบพฤติกรรมการกลัว คือ ทำให้เด็กหายกลัว การพยายามในการทดลองเพื่อขจัดพฤติกรรมนี้ วัตสันใช้วิธีงดตัวเสริมกำลัง (เสียงดัง) ทำให้สภาพเสียงดังน่ากลัวนั้นหมดไป แล้ววางเงื่อนไขย้อนกลับอีกต่อหนึ่ง (Backward Conditioning) คือ เมื่อนำหนูขาวมาให้เด็กอีกก็จะให้สิ่งอื่นที่เด็กเกิดความพอใจด้วย เช่น ให้เด็กกินนมและให้เกิดความอบอุ่น ปลอดภัยโดยให้อยู่ในอ้อมแขนของแม่ ในที่สุดวัตสันก็สามารถใช้การวางเงื่อนไขแบบย้อนกลับนี้ทำให้อัลเบิร์ตหายกลัวหนูและของเล่นที่มีลักษณะคล้ายกันได้ จากความสำเร็จครั้งนี้ของวัตสัตทำให้เขาคิดว่าเขาจะสามารถวางเงื่อนไขควบคุมพฤติกรรมของบุคคลได้ สำหรับหลักการวางเงื่อนไขของวัตสันก็มีลักษณะเช่นเดียวกับของพาฟลอฟดังกล่าวมาแล้ว
             ปัจจัยสำคัญเพื่อให้การวางเงื่อนไขเกิดผลดี
             การเรียนรู้อันเกิดจากการวางเงื่อนไข สิ่งเร้าจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆดังนี้
             1. สิ่งเร้าที่เป็นกลางหรือต้องวางเงื่อนไข (CS) จะต้องเสนอก่อนการเสนอสิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไข (UCS) และช่วงระยะเวลาห่างกันของการเสนอ CS กับ UCS จะต้องสั้นจึงจะมีการตอบสนองที่เข้ม หากช่วงเวลาที่เสนอห่างกันมากการตอบสนอง เช่น น้ำลายไหลก็จะไม่เกิดขึ้น
             2. สิ่งเร้าที่ต้องวางเงื่อนไขจะต้องเสนอก่อนการเสนอสิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไขอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีคุณค่าที่จะทำนายว่าสามารถกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองอย่างแน่นอน ดังนั้นในการโฆษณาทางโทรทัศน์ควรจะเสนอตัวผลิตภัณฑ์ก่อน ก่อนที่จะเสนอสิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไขให้ปรากฏ
             3. ทั้งสิ่งที่ต้องวางเงื่อนไขและสิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไข จะต้องมีลักษณะเด่นสะดุดตาและมีคุณค่าดึงดูดใจมากกว่าสิ่งเร้าอื่นๆในสภาพแวดล้อมนั้น ในการโฆษณาทางโทรทัศน์สิ่งเร้าทั้งสองอย่างนี้จะต้องเรียกร้องความสนใจแก่ผู้ชมโทรทัศน์เหนือโฆษณาของคู่แข่ง
             4. ความเข้มข้นของการตอบสนองนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไขหรือสิ่งเร้าที่ต้องวางเงื่อนไขหรือทั้งสองอย่างระกอบกัน
             ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคกับกระบวนการจัดการเรียนรู้
             การนำทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคมาประยุกต์สู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู ดังนี้
             1. ครูผู้สอนควรจะหาทางคอยเสริมคอยย้ำพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เพื่อให้ผู้เรียนยังคงแสดงพฤติกรรมนั้นๆต่อไปอีก เพื่อจะได้ไม่เกิดการเลือนหายไปของพฤติกรรม
             2. ในบางพฤติกรรมของผู้เรียน อันได้แก่ พฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาต่างๆ เช่น ความกลัวสัตว์หรือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างไร้เหตุผลซึ่งผู้เรียนอาจจะถูกวางเงื่อนไขมาจากที่ใดที่หนึ่งนั้น ครูควรจะหาทางลบล้างพฤติกรรมนั้นเสีย
             3. การเตรียมและใช้สื่อการสอนที่ดีจะช่วยเสริมสร้างให้เกิดลักษณะการวางเงื่อนไขได้เป็นอย่างดี
             4. การสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน เช่น ความปลอดภัย ความอบอุ่น ความเป็นกันเอง ย่อมเป็นเงื่อนไขให้ผู้เรียนรักการเรียน
             5. การให้รางวัล การทำโทษ การแข่งขันเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่เป้าประสงค์แห่งการเรียน
             6. ครูควรจะทำงานติดต่อกับนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหายุ่งยากต่างๆในการเรียนรู้และช่วยสร้างพฤติกรรมที่ดีงาม ลบพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้แก่นักเรียน
         3. ทฤษฎีการวางเงื่อนไขของสกินเนอร์ (Skinner’s Operant Conditioning Theory)
             ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์ (Skinner) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันมีความคิดว่าพฤติกรรมของอินทรีย์จะเกิดขึ้นเพราะอินทรีย์เป็นผู้กระทำหรือส่งออก (Emit) มากกว่าเกิดขึ้นเพราะถูกสิ่งเร้าดึงให้ออกมา พฤติกรรมส่วนใหญ่แล้วมนุษย์จะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติไม่ใช่เกิดจากการจับคู่ระหว่างสิ่งเร้าใหม่กับสิ่งเร้าเก่า ตามคำอธิบานของพาฟลอฟ สกินเนอร์ได้อธิบาย คำว่าพฤติกรรมว่าประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ตัว คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดขึ้นก่อน, พฤติกรรมและผลที่ได้รับ
             พฤติกรรมที่อินทรีย์ส่งออกมาเองก็คือ อาการที่อินทรีย์กระทำต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การอ่าน การเขียน สกินเนอร์มีความเห็นสอดคล้องกับธอร์นไดค์ว่า การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ เขาจึงสนใจเรื่องการเสริมแรงนี้มากและได้ใช้การเสริมแรงเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรม แต่ความเห็นของสกินเนอร์เกี่ยวกับการเสริมแรงก็ยังแตกต่างจากความเห็นธอร์นไดค์ตรงที่เขากล่าวว่า การเชื่อมโยงจะเกิดขึ้นระหว่างรางวัล (Reward) และการตอบสนอง (Response) ไม่ใช่ระหว่างสิ่งเร้า (S) และการตอบสนอง (R) ดังที่ธอร์นไดค์กล่าว
             การทดลองของสกินเนอร์
             สกินเนอร์ทำการทดลองกับหนู โดยเขาสร้างเครื่องมือในการทดลองเป็นกล่องสี่เหลี่ยม เรียกว่า “Skinner Box” ข้างในกล่องทำเป้นคาน หรือลิ้นที่เป็นตัวบังคับให้อาหารตกลงในจานที่รองรับเหนือคานจะมีหลอดไฟที่มีวงจรต่อกับคาน เมื่อไปถูกคานไฟจะสว่างและจะมีอาหารตกลงมา เขาดำเนินการทดลองโดยการจับหนูที่กำลังหิวใส่ลงไปในกล่องทดลองปรากฏว่าหนูวิ่งไปวิ่งมา จนกระทั่งไปเหยียบถูกคานเข้าโดยบังเอิญทำให้ไฟสว่างขึ้น และหลังจากนั้นก็มีอาหารหล่นลงมาสู่จาน หนูจึงได้กินอาหารซึ่งเป็นการเสริมแรงต่อการกดคานจากนั้นหนูก็วิ่งไปวิ่งมาอีก จนกระทั่งไปกดคานอย่างรวดเร็วและได้อาหารทุกๆครั้ง พฤติกรรมแบบ Operant ก็จะเกิดเต็มที่ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือว่า หนูตัวนี้เกิดการเรียนรู้แบบลงมือกระทำเอง
             สกินเนอร์ได้บันทึกอัตราการกดคานของหนูในกระดาษ โดยมีเครื่องมือสำหรับบันทึกติดต่ออยู่กับคาน เส้นกราฟที่ได้แสดงให้เห็นถึงความถี่ของการกดคาน จากการทดลองของเขาพบว่า ระยะแรกๆอัตราการกดคานจะต่ำมากประมาณครั้งละราว 15 นาที  แต่จากนั้นอีกราว 30 นาที อัตราการกดคานจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นอัตราที่สม่ำเสมอกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนูเกิดการเรียนรู้ที่จะกดคานแล้ว จากการทดลองดังกล่าว สรุปได้ว่า การตอบสนองหรือการกดคานจะเข้มข้นเพียงใดขึ้นอยู่กับตัวเสริมแรง (Reinforcer) ซึ่งได้แก่ อาหาร แสดงว่าการเรียนรู้ที่ดีจะต้องมีการเสริมแรง
             หลังจากที่สิกนเนอร์ทดลองให้หนูกดคาน เพื่อให้อาหารเป็นรางวัลแล้วเขาได้เปลี่ยน การทดลองใหม่ โดยการใช้ไฟฟ้าช็อตเพื่อศึกษาเรื่องการลงโทษ คือ ขณะที่หนูอยู่ในกรงมันจะถูกกระแสไฟฟ้าช็อต หนูก็จะวิ่งพล่านเพื่อหาทางออก แต่ถ้าบังเอิญไปกดคานเมื่อไหร่ ไฟฟ้าจะหยุดช็อตทันทีเพียงไม่กี่ครั้งหนูก็รู้ว่าจะต้องกดคาน จึงจะไม่ถูกไฟฟ้าช็อต แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำหนูกลับมาที่กล่องนี้อีก มันจะแสดงอาการกลัวอย่างลนลานและไม่อยากเข้ากล่องนั้นอีก
             สกินเนอร์ใช้การเสริมแรงมาควบคุมพฤติกรรมของสัตว์ ทำให้สัตว์เกิดการเรียรู้ตามที่เขาต้องการ เขาเรียกการสอนให้เกิดการเรียนรู้ในการกระทำพฤติกรรมนี้ว่า เป็นการดัดหรือการตบแต่งพฤติกกรม (Behavior Shaping) โดยเขาทำการทดลองกับนกพิราบ เพื่อให้มันจิกเครื่องหมายให้ถูกต้อง เมื่อผู้ทดลองเปิดไฟสีต่างๆและใช้อาหารเป้นตัวเสริมแรงให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการโดยยึดหลักการเสริมแรง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างยิ่ง
             ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์กับการจัดการเรียนรู้ของครู
             การนำทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์มาประยุกต์สู่กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู มีดังนี้
             1. ควรจะให้แรงเสริมในพฤติกรรมที่แสดงว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วโดยตอนแรกๆควรจะให้แรงเสริมทุกครั้งที่ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงปรารถนา ต่อมาจึงค่อยใช้แรงเสริมเป็นครั้งคราวและจะต้องระวังมาให้แรงเสริมเมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์
             2. การปรับพฤติกรรม (Behavior Modification) คือ การปรุงแต่งพฤติกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการซึ่งมี 3 ลักษณะดังนี้
                   2.1 การเพิ่มพฤติกรรมหรือคงพฤติกรรมเดิมที่เหมาะสมไว้ ซึ่งจะมีเทคนิคในการใช้เพิ่มพฤติกรรมหลายอย่างคือ การเสริมแรงในทางบวก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่พึงพอใจ การทำสัญญาเงื่อนไข การเสริมแรงในทางลบ เป็นต้น
                   2.2 การปลูกฝังพฤติกรรมบางอย่างโดยใช้วิธีที่เรียกว่า การดัดหรือการตบแต่งพฤติกรรม (Behavior Shaping) ซึ่งเป็นการใช้วิธีให้แรงเสริมกับพฤติกรรมที่ผู้เรียนทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามลำดับขั้นจนสามารถแสดงออกได้เป็นนิสัย เช่น การกระทำให้เด็กที่ไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออกเป็นเด็กที่กล้าขึ้นมาได้ก็โดยการชมเชย และให้กำลังใจเมื่อเขากล้าพูด และกล้าแสดงออก ฯลฯ
                   2.3 การลดพฤติกรรม เป็นการลดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งจะใช้วิธีการลงโทษ เช่น การฝ่าฝืนกฎ หรือระเบียบของโรงเรียน หรือสังคม การสูบบุหรี่ เป็นต้น
             3. บทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนแบบโปรแกรม (Program Learning) จากหลักการให้แรงเสริมของสกินเนอร์ที่ว่า เมื่อผู้เรียนทำถูกจะได้รางวัลทันที มีผลให้เกิดบทเรียนสำเร็จรูปหรือบทเรียนแบบโปรแกรมและเครื่องช่วยสอน (Teaching Machine) ขึ้น ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองโดยมีคำตอบที่ถูกต้องไว้ให้
             4. การปรับพฤติกรรม คือ ทำการปรับพฤติกรรมของบุคคล หลักการนี้อาจจะใช้ทั้งการเสริมแรงทางบวกและการเสริมแรงทางลบประกอบกัน
             สรุปทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทะของสกินเนอร์เป็นหลักการที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ด้วยการให้สิ่งเร้าที่เป็นตัวเสริมแรง หลังจากที่ได้มีการกระทำตามเงื่อนไขแล้ว การเสริมแรงทุกครั้งจะมีส่วนช่วยทำให้การตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆของอินทรีย์มีอันตราการตอบสนองที่เข้มข้นขึ้น                       
         4. ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์ (Thorndike’s Connectionism Theory)
    ธอร์นไดค์ (Thorndike) เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่ง โดยเขาได้ชื่อว่าเป็น นักทฤษฎีการเรียนรู้คนแรกของอเมริกา และ บิดาแห่งจิตวิทยาการศึกษาธอร์นไดค์ ได้ให้กำเนิดทฤษฎีการเรียนรู้ที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (S) กับการตอบสนอง (R) ทั้งนี้เพราะ เขาถือว่าการเรียนรู้เป็นการแก้ปัญหา เพราะเมื่อผู้เรียนพบปัญหา เขาจะมีปฏิกิริยาแบบเดาสุ่มซึ่งเป็นการลองผิดลองถูก Trial and Error นั่นคือ ผู้เรียนจะลองทำหลายวิธี จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในที่สุด โดยที่ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงสิ่งเร้าหรือปัญหาด้วยการตอบสนองที่เหมาะสมได้
             ทฤษฎีของธอร์นไดค์ได้ชื่อว่า ความสัมพันธ์เชื่อมโยง(connectionism) เพราะเขามีความเห็นว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเนื่องจากมีการเชื่อมโยงระหว่าง S-R ธอร์นไดค์เน้นว่าสิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ คือ การเสริมแรง (Reinforcement) ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เดการเชื่อมโยงระหว่าง S-R มากขึ้น หมายความว่า สิ่งเร้าใดทำให้เกิดการตอบสนอง และการตอบสนองนั้นได้รับการเสริมแรง จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่าง S-R นั้นมากขึ้น
             การทดลองของธอร์นไดค์
             ธอร์นไดค์ทดลอกับแมว โดยสร้างกรงปัญหา (Puzzle Box) ซึ่งทำด้วยไม้ และมีประตูกลเขาจับแมวที่อดอาหารจนหิวใส่กรงปัญหา และปิดประตูกลให้เรียบร้อย โดยการวางจานอาหารไว้นอกกรงให้แมวเห็น แต่ในระยะที่แมวเขี่ยไม่ถึง สถานการณ์เหล่านี้เป็นการสร้างปัญหา เพื่อให้แมวหาทางออก มากินอาหารให้ได้      ธอร์นไดค์ใช้เวลา 5 วันในการทดลองโดยแบ่งเป็นช่วงเช้าและบ่าย วันละ 20 ครั้ง รวมทั้ง 100 ครั้ง และเมื่อทดลองครบ 10 ครั้ง แมวจะได้กินอาหารและหยุดพัก
             ผลการทดลองพบว่าในการทดลองครั้งแรก แมวพยายามแสดงอาการตอบสนองอย่างเดาสุ่มหลายๆอย่าง เช่น ส่งเสียงร้อง ตะกุยกรง ใช้ฟันกัด ใช้เท้าเขี่ยประตู และอีกหลายๆอย่าง จนกระทั่งบังเอิญไปเหยียบแผ่นไม้ ซึ่งมีเชือกดึงสปริงทำให้ถอดสลักประตูกรง แมวจึงออกมากินอาหารตามต้องการได้ ในการทดลองครั้งต่อมาแมวค่อยๆลดการตอบสนองที่ห่างไกลความจริงในการแก้ปัญหาทีละน้อยและใช้เวลาในการหาทางออกจากกรงน้อยลงๆ จนเมื่อการทดลองผ่านไปหลายสิบครั้งแมวก็สามารถเปิดประตูกรงได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาอีก แสดงว่าแมวเกิดการเรียนรู้ในการที่จะออกจากกรง โดยการไปเหยียบแผ่นไม้แล้วประตูจึงเปิด เป็นการมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างแผ่นไม้กับการเปิดประตู ธอร์นไดค์จึงสรุปว่า การเรียนรู้ของแมวมีลักษณะ ลองผิด ลองถูก(Trial and Error) มิใช่เนื่องมาจากสติปัญญา
    ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์กับกระบวนการจัดการเรียนรู้
    ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์กับกระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู มีดังนี้
    1. ในบางสถานการณ์ ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง
    2. ควรสอนเมื่อผู้เรียนมีความพร้อม ดังนั้นจึงควรชี้แจงจุดมุ่งหมายของการเรียนหรือนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมเสียก่อน
    3. พยายามช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียน และการทำงาน และให้เขาได้ทราบผลการเรียนและการทำงานเพื่อกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อไปและเกิดเจตคติ ที่ดีจำทำให้มีความตั้งใจในการเรียนมากขึ้น
    4. การสอนในชั้นเรียนควรกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชั้นเจนหมายถึงการตั้งจุดมุ่งหมายที่สังเกตการตอบสนองได้และครูจะต้องจัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยๆ ให้เขาเรียนทีละหน่วย เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เกิดความรู้สึกพอใจในผลที่เขาเรียนในแต่ละหน่วยนั้น
    5. การสอนควรเริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปสิ่งที่ยาก การสร้างแรงจูงใจนับว่าสำคัญมาก เพราะจะทำให้ผู้เรียนเกิดความพอใจเมื่อได้รับสิ่งที่ต้องการหรือรางวัล รางวัลจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมพฤติกรรมของผู้เรียน
    6. การสร้างแรงจูงใจภายนอกให้กับผู้เรียน ครูจะต้องให้ผู้เรียนรู้ผลการกระทำหรือผลการเรียนเพราะการรู้ผลจะทำให้ผู้เรียนการกระทำนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ดีหรือไม่ดี พอใจหรือไม่พอใจ ถ้าการกระทำนั้นผิดหรือไม่เป็นที่พอใจเขาก็จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องเพื่อที่จะได้รับสิ่งที่เขาพอใจต่อไป
             7. ควรให้ผู้เรียนได้มีการฝึกหัด หรือทำกิจกรรมนั้นซ้ำอีกตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความแม่นยำ และความชำนาญยิ่งขึ้น
             สรุปทฤษฎีการเรียนรู้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นการเน้นสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองทั้งนี้เพราะการเรียนรู้เป็นการแก้ปัญหา เมื่อผู้เรียนพบปัญหาเขาจะมีปฏิกิริยาแบบเดาสุ่มซึ่งเป็นการลองผิดลองถูก ผู้เรียนจะลองทำหลายวิธี จนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด โดยที่ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงสิ่งเร้าหรือปัญหาด้วยการตอบสนองที่เหมาะสมได้

สุรางค์  โค้วตระกูล (2544 : 185 -186) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ว่า นักคิด นักจิตวิทยาในกลุ่มพฤติกรรมนิยมมองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว (neutral-passive) การกระทำต่าง ๆ เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอกพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (stimulus-response) การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองกลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสำคัญกับ พฤติกรรมมาก เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ สามารถวัดและทดสอบได้ ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพฤติกรรมนิยม ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญ 3 แนวคิด ดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์(Thorndike’s Connectionism Theory)
2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไข(Conditioning Theory)
3. ทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์(Hull’s Systematic Behavior Theory)

สยุมพร ศรีมุงคุณ (https://www.gotoknow.org/posts/341272) ได้กล่าวถึงทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยมไว้ว่า นักคิดในกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว การกระทำต่างของมนุษย์เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า(stimulus response)  การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง  กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสนใจกับพฤติกรรมมากเพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด  สามารถวัดและทดสอบได้  ทฤษฏีการเรียนรู้ในกลุ่มนี้  ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญๆ 3 แนวด้วยกัน  คือ 
    1. ทฤษฎีการเชื่อมโยง (Classical Connectionism) ของธอร์นไดค์ (Thorndike) 
 มีความเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง  ซึ่งมีหลายรูปแบบ  บุคคลจะมีการลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบรูปแบบการตอบสนองที่สามารถให้ผลที่พึงพอใจมากที่สุดเมื่อเกิดการเรียนรู้แล้ว  บุคคลจะใช้รูปแบบการตอบสนองที่เหมาะสมเพียงรูปแบบและจะพยายามใช้รูปแบบนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งเร้าในการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนแบบลองผิดลองถูกบ้าง  มีการสำรวจความพร้อมของผู้เรียนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำก่อนการสอนบทเรียน  เมื่อผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แล้วครูควรฝึกให้ผู้เรียนฝึกการนำการเรียนรู้นั้นไปใช้บ่อยๆ  การศึกษาว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเร้าหรือรางวัลที่ผู้เรียนพึงพอใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้  
    2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning Theory) ประกอบด้วยทฤษฏีย่อย 4 ทฤษฏี ดังนี้ 
                   1)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของพาฟลอฟ (Pavlov’s Classical Conditioning) เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า การเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข 
                   2) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของวัตสัน (Watson’s Classical Conditioning) เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไขเช่นกัน สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า การเรียนรู้จะคงทนถาวรหากมีการให้สิ่งเร้าที่สัมพันธ์กันนั้นควบคู่กันไปอย่างสม่ำเสมอ 
3) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบต่อเนื่องของกัทธรี (Guthrie’s Contiguous Conditioning) เน้นหลักการจูงใจ สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า การเรียนรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วแม้เพียงครั้งเดียว ก็นับว่าได้เรียนรู้แล้วไม่จำเป็นต้องทำซ้ำอีก  
4) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบโอเปอร์แรนต์ของสกินเนอร์ (Skinner’s Operant Conditioning)  เน้นการเสริมแรงหรือให้รางวัล  สรุปแนวคิดตามทฤษฏีนี้ได้ว่า  การกระทำใดๆ ถ้าได้รับการเสริมแรงจะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอีก  การเสริมแรงที่แปรเปลี่ยนทำให้การตอบสนองคงทนกว่าการเสริมแรงที่ตายตัว  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงเน้นที่การเสนอสิ่งเร้าในการเรียนการสอน  การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  มีการแสริมแรงหรือให้รางวัลเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความพึงพอใจที่จะเรียนรู้ 
    3. ทฤษฏีการเรียนรู้ของฮัลล์ (Hull’s Systematic Behavior Theory)  มีความเชื่อว่าถ้าร่างกายเมื่อยล้า  การเรียนรู้จะลดลง  การตอบสนองต่อการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อได้รับแรงเสริมในเวลาใกล้บรรลุเป้าหมาย  หลักการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จึงมักคำนึงถึงความพร้อม  ความสามารถและเวลาที่ผู้เรียนจะเรียนได้ดีที่สุด  การจัดการเรียนการสอนควรให้ทางเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบสนองระดับความสามารถของผู้เรียน 

สรุปทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม
    นักคิดในกลุ่มนี้มองธรรมชาติของมนุษย์ในลักษณะที่เป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว การกระทำต่างของมนุษย์เกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมภายนอก การเรียนรู้เกิดจากการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง  กลุ่มพฤติกรรมนิยมให้ความสนใจกับพฤติกรรม”  มากเพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด  สามารถวัดและทดสอบได้  ทฤษฏีการเรียนรู้ในกลุ่มนี้  ประกอบด้วยแนวคิดสำคัญๆ 3 แนวด้วยกัน  คือ 
               1. ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ เน้นที่การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนแบบลองผิดลองถูกบ้าง
    2. ทฤษฎีการวางเงื่อนไข ประกอบด้วยทฤษฏีย่อย 4 ทฤษฏี ดังนี้ 
                   1)  ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของพาฟลอฟ เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข 
                   2) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบอัตโนมัติของวัตสัน เน้นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข
                   3) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบต่อเนื่องของกัทธรี เน้นหลักการจูงใจ
                         4) ทฤษฏีการวางเงื่อนไขแบบโอเปอร์แรนต์ของสกินเนอร์ เน้นการเสริมแรงหรือให้รางวัล 
                   3. ทฤษฏีการเรียนรู้ของฮัลล์ เน้นการเสริมแรง
ที่มา
          มาลิณี  จุโฑปะมา. (2554). จิตวิทยาการศึกษา Educational Psychology. บุรีรัมย์:
                          เรวัตการพิมพ์
             สุรางค์ โค้วตระกูล. (2544). ศาสตร์การสอน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
          สยุมพร ศรีมุงคุณ. [Online] (https://www.gotoknow.org/posts/341272).
                                          ทฤษฎีการเรียนรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น